กระซู่


อันดับ Perissodactyla
วงศ์Rhinocerotldae
ชื่อวิทยาศาสตร์ Dicerorhinus sumatraensis
ชื่อพ้อง Didermocerus sumatraensis
     กระซู่เป็นสัตว์กีบคี่เช่นเดียวกับแรด อยู่ในวงศ์แรดหรือวงศ์สัตว์มีเขาที่จมูก กระซู่ในประเทศไทยมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Dicerorhinus sumatraensis แปลว่า สัตว์มีเขาที่จมูก 2 เขา

ลักษณะทั่วไป
(Sumatran Rhino)
กระซู่เป็นสัตว์ที่มีหนังพับหรือหนังย่น โดยหนังของกระซู่มีสีน้ำตาลแดง
ทำให้มองดูคล้ายกระซู่สวมเสื้อเกราะอย่างหลวมๆ มีขนสั้นสีเทาดำ ถึงน้ำตาลแดงขึ้นอยู่ทั่วไปตามแผ่นหนัง  กระซู่มีเขาที่จมูก 2 เขา เรียกว่า นอ กระซู่เป็นสัตว์ที่มีขาสั้น มีกีบเท้าทั้ง 4 ข้างๆละ3 กีบ มีริมฝีปากบนงุ้ม มีฟันตัดที่พัฒนาไปเป็นอาวุธใช้ในการต่อสู้แต่ไม่ชัดเจนเหมือนฟันของแรด

การแพร่กระจาย
ในอดีตกระซู่มีการแพร่กระจายตั้งแต่ประเทศภูฏาน อินเดียตะวันออก  บังคลาเทศ พม่า ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สุมาตราและบอร์เนียว ปัจจุบันพบอาศัยอยู่ในพื้นที่บริเวณคาบสมุทรมลายู สุมาตราและบอร์เนียว ในประเทศไทยมีรายงานยืนยันการพบในป่ารอยต่อระหว่างไทยและมาเลเซียบริเวณเทือกเขาบูโด

ชีววิทยา
กระซู่หนักประมาณ 700-1,000 กิโลกรัม สูงประมาณ 112-145 เซนติเมตร อายุยืน35 ปี กระซู่ตัวเมียสามารถสืบพันธุ์เมื่ออายุตั้งแต่ 4 ปี ระยะตั้งท้อง 400 วัน ตกลูกครั้งละ 1 ตัว หนักประมาณ 35 กิโลกรัม

นิเวศวิทยา
 กระซู่เป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ได้ทั้งที่ราบและเขาสูงที่ชุ่มชื้น และมีแหล่งน้ำสมบูรณ์ ในพื้นที่ที่มีแรดและกระซู่อาศัยอยู่จะพบว่า แรดครอบครองพื้นที่ราบ แต่กระซู่จะอยู่ในบริเวณที่สูงหรือที่เป็นเขากระซู่
ตัวผู้มักจะแวะเวียนไปตามพื้นที่หากินของเหล่าตัวเมีย กระซู่มีประสาทการมองเห็นไม่ดีเช่นเดียวกับแรด แต่มีประสาทในการรับกลิ่นและเสียงดี


สถานภาพ
ปัจจุบันพบอาศัยอยู่ในป่าของประเทศไทย มาเลเซีย  และอินโดนีเซีย มีประชากรรวมกันราว 300 ตัว มีการเลี้ยงในสวนสัตว์ 36 ตัว จากการจัดสถานภาพโดย IUCN (2004) กระซู่มีสถานภาพเป็นสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (Critically Endangered) และจากการคุ้มครองโดยอนุสัญญา CITES (2005) กระซู่จัดอยู่ในบัญชี 1(Appendix)

ปัจจัยคุกคาม
ไม่ค่อยมีศัตรูธรรมชาติจึงเป็นสัตว์เชื่อช้าไม่ปราดเปรียว ทำให้ถูกล่าได้ง่ายโดยมนุษย์ การล่าเพื่อนำมาทำยา เนื่องด้วยพฤติกรรมการผสมพันธุ์แต่ละครั้งใช้เวลานานเป็นชั่วโมง มนุษย์จึงเชื่อในสรรพคุณของกระซู่ที่ใช้เป็นยาโป๊ว มีสรรพคุณเช่นเดียวกับแรด มีการทดลองนำนอกระซู่ป่นไปเป็นส่วนผสมของยาให้หนูกินปรากฏว่าสามารถลดไข้ได้เช่นเดียวกับเขาควาย  การทำลายที่อยู่อาศัยตามที่ราบเชิงเขาและหุบเขาที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของกระซู่ทำให้ประชากรกระซู่ลดลงจนหมดไปจากหลายพื้นที่
Cr.หนังสือสัตว์ป่าสงวนในประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น