ลักษณะทั่วไป
กูปรีจัดอยู่ในพวกวัวป่าแท้
สกุลเดียวกับวัวแดงและกระทิง ด้วยมีลักษณะเหมือนกันคือ ตัวโต โคนขาใหญ่ปลายขาเรียว หางยาว ปลายหางเป็นพู่ขน ไม่มีต่อมเปิดระหว่างกีบนิ้ว ใต้ตา
และระหว่างขาหนีบ ขาหลังมีขา 2 ข้าง บนหัวทั้งตัวผู้ตัวเมีย เป็นเขากลวงแบบ Horn กูปรีเป็นสัตว์กีบคู่
และเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องที่กินพืชเป็นอาหารหลักอย่างแท้จริง รูปร่างของกูปรี
มีหนอกหลังเป็นสันกล้ามเนื้อบางๆ ไม่โหนกหนาอย่างหนอกหลังของกระทิง
มีเหนียงคอเป็นแผ่นหนังห้อยยานอยู่ใต้คอ ดั้งจมูกบานใหญ่มีรอยเป็นบั้งๆตามขวางชัดเจน
รูจมูกกว้างเป็นรูปเสี้ยววงเดือน ใบหูแคบสั้น
ไม่มีสันกระบังที่หน้าผากอย่างกระทิงและวัวแดง
เป็นวัวป่าที่มีหางยาวที่สุดในประเทศไทย น้ำหนักตัวประมาณ 700-900 กิโลกรัม
ลักษณะเด่นของกูปรี คือเขาของมันละม้ายกับเขาของจามรี
ลักษณะเป็นเขาบิดอย่างเห็นได้ชัดเจน ทั้งของตัวผู้และตัวเมีย เขาของกูปรีตัวผู้มีลำเขาใหญ่มาก
โคนเขาใหญ่และโค้งนูนออก กูปรีตัวเมียมีรอยหยักตามขวางเรียกว่า พาลี
การแพร่กระจาย
พบอยู่แถบภาคใต้ของลาว ภาคเหนือและภาคตะวันตกของกัมพูชา
ภาคตะวันตกของเวียดนามและภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา
ในประเทศไทยเคยมีกูปรีอาศัยอยู่ตามป่าแถบเทือกเขาพนมดงรักบริเวณจังหวัดสุรินทร์
ศรีสะเกษ บุรีรัมย์ อุบลราชธานี และนครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนติดกับกัมพูชา
ต่อมาได้ลดน้อยลง
ชีววิทยา
นิสัยของกูปรีไม่เหมือนวัวแดงและกระทิง คือชอบเอาเขาขวิดกับต้นไม้
กิ่งไม้ ตามเส้นทางเดินผ่านหรือขวิดเนินขอบแอ่งดินโป่ง หรือแอ่งน้ำ
หรือขวิดคุ้ยดินตามห้อยเพื่อหาน้ำหรือดินโป่งกินเป็นประจำ
ทำให้เปลือกปลายเขาของกูปรีตัวผู้แตกออกเป็นพู่คล้ายไม้กวาดและยังทำให้พรานสามารถติดตามแกะรอยกูปรีแยกจากวัวแดงและกระทิงได้จากรอยขวิด
ฤดูผสมพันธุ์อยู่ในช่วงเดือนเมษายน ตั้งท้องประมาณ 9 เดือน
ออกลูกครั้งละ 1 ตัว
นิเวศวิทยา
กูปรีชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ 30-40 ตัว
มีตัวที่อายุมากที่สุดเป็นผู้นำฝูง มันอยู่ตามป่าโปร่ง ได้แก่ ป่าเบญจพรรณ
ป่าเต็งรัง ทุ่งหญ้า ป่าทุ่ง และบริเวณที่มีดินโป่ง และหนองน้ำอุดมสมบูรณ์
สถานภาพ
ในอดีตเชื่อว่าประชากรของกูปรีมีเหลืออยู่น้อยกว่า
250 ตัว อยู่ในภาวะถูกคุกคามและลดจำนวนลงไปเรื่อยๆ
เชื่อว่าประชากรกระจายตัวอยู่ในกัมพูชา ลาว ไทย และเวียดนามเท่านั้น
ในหลังฐานที่ปรากฏ
ปัจจัยคุกคาม
สงครามอินโดจีนทำให้ประชากรของกูปรี
ลดลงเป็นจำนวนมาก ประกอบกับการถูกรบกวนจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์ การทำไม้
การทำเกษตรกรรมเหล่านี้ก่อให้เกิดการสูญหายของถิ่นที่อยู่อาศัยของกูปรี การล่าเพื่อการยังชีพและการค้า กะโหลก เขา
และเนื้อ คนพื้นเมืองชอบล่ากูปรีเพราะเนื้ออร่อย
ตัวใหญ่ หนังและเขาราคาดี และยังเชื่อว่ากระดูกที่หนอกหลังของมันนำมาบดละเอียดผสมเหล้าแล้วร่างกายจะแข็งแรง
และอบอุ่น
Cr.หนังสือสัตว์ป่าสงวนในประเทศไทย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น