สมัน หรือเนื้อสมัน

 (Schomburgk’s Deer)
อันดับ Artiodactyla
วงศ์ cervldae
ชื่อวิทยาศาสตร์ Cervus schomburgki
สมัน เป็นกวางพื้นเมืองเฉพาะถิ่น พบเพียงแห่งเดียวในโลก ในบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางของประเทศไทยแต่ปัจจุบันได้สูญพันธุ์ไปแล้ว เหลือไว้เพียงซากเขาที่สวยงาม แต่ก็มีอยู่ในประเทศไทยน้อยชิ้น เนื่องจากถูกชาวต่างชาติ ที่รู้ถึงคุณค่า กว้านซื้อไปเก็บสะสมในพิพิธภัณฑ์เป็นจำนวนมากมี่เหลือส่วนหนึ่ง ได้ถูกทำลายโดยผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น ทำเป็นด้ามมีด หรือบดทำยาจีน

ลักษณะทั่วไป
เป็นสัตว์จำพวกกวางที่มีกีบเท้าเป็นกีบคู่ เท้าแต่ละข้างมีนิ้วเท้าเจริญดี 2 นิ้ว พัฒนารูปร่างเป็นกีบเท้าแข็งขนาดใหญ่เท่าๆกัน 2 กีบ กระเพาะพักเพื่อย่อยอาหารจำพวกพืชโดยเฉพาะมีต่อมน้ำตาเป็นแอ่งที่หัวตา ไม่มีถุงน้ำดี และที่สำคัญคือ มีเขาบนหัวที่เรียกว่า เขากวาง เฉพาะในตัวผู้ลักษณะของเขาสวยงามมาก น้ำหนักประมาณ 100-120 กิโลกรัม มีรูปร่างและเขาที่สวยงาม มีขนตามตัวเรียบเป็นมัน ยาว และหยาบ สีขนลำตัวมี สีน้ำตาลเข้มเรียบเป็นมัน เขาสมันมีลักษณะสวยงาม เป็นเขาแบบกวางมีขนาดใหญ่และแตกกิ่งก้านออกหลายแขนง

การแพร่กระจาย
สมัยก่อนมีชุกชุมมากในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาแต่ปัจจุบันสูญพันธุ์แล้วโดยมีรายงานการพบสมันในธรรมชาติครั้งสุดท้ายเมื่อพฤศจิกายน พ.ศ.2475 จึงกล่าวได้ว่าสมันเป็นสัตว์พื้นเมืองเฉพาะถิ่นของประเทศไทยเพียงแห่งเดียวในโลก

ชีววิทยา
สมันชอบอยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ชอบกินหญ้าโดยเฉพาะหญ้าอ่อน ผลไม้ ยอดไม้ และ ใบไม้หลายชนิด มีลักษณะการเดินการยกหัวและท่วงท่าที่สง่างาม

นิเวศวิทยา
สมันอาศัยเฉพาะในทุ่งโล่ง หากินหญ้าตามท้องทุ่งโล่งใกล้แม่น้ำ หรือ ที่ราบลุ่มริมน้ำ และมักอาศัยรวมถิ่นปะปนกับเนื้อทราย มันมีกิ่งก้านเขาซึ่งบานเป็นสุ่ม ทำให้สมันไม่สามารถมุดลอดได้เพราะกิ่งก้านเขาจะขัดหรือเกี่ยวพันกับกิ่งเถาวัลย์ ทำให้พวกพรานล้อมไล่ฆ่าอย่างง่ายดาย

สถานภาพ
 สมันได้สูญพันธุ์ไปจากประเทศไทยและจากโลก มาแล้ว (พ.ศ.2481) จากการจัดสถานภาพโดย IUCN (2004) สมันมีสถานภาพเป็นสัตว์ที่สูญพันธุ์ (Extinct)

ปัจจัยคุกคาม
สาเหตุของการสูญพันธุ์ของสมัน เนื่องจากประเทศไทยได้เปิดติดต่อค้าขายกับต่างประเทศในปี ค.ศ.1850 (พ.ศ.2393) และข้าวเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญทำให้คนไทยตื่นตัวกับการทำนา จึงขึ้นไปจับจองที่ดินทำนากันเป็นจำนวนมากซึ่งเป็นการทำลายที่อยู่อาศัยของสมันและเกิดการฆ่าสมันในแถบนั้นหมดภายในไม่กี่ปี ส่วนสมันที่เหลืออยู่ตามที่ห่างไกลจะถูกล่าอย่างหนักในฤดูน้ำหลากท่วมท้องทุ่งซึ่งสมันจะหนีน้ำขึ้นไปอยู่รวมกันบนที่ดอนทำให้พวกพรานไล่ฆ่าอย่างง่ายดาย
Cr.หนังสือสัตว์ป่าสงวนในประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น