เลียงผา หรือเยือง หรือกูรำ หรือโครำ

อันดับ : Artiodactyla
วงศ์ : Bovidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Capricornissumatraensis
เลียงผาเป็นสัตว์โบราณที่สุดของวงศ์ย่อยแพะแกะ ในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Carpricornissumatraensisหมายถึง สัตว์มีเขาอย่างแพะแห่งเกาะสุมาตรา

ลักษณะทั่วไป
(Serow)
เลียงผาเป็นสัตว์ที่รูปร่างคล้ายแพะแต่มีรูปหน้ายาวกว่า มีลำตัวสั้นแต่ขายาว ตัวเมียเล็กกว่าตัวผู้ มีเขาทั้งตัวผู้และตัวเมีย เขางอกยาวต่อเนื่องทุกปี อาจยาวสูงถึง 32 เซนติเมตร เส้นรอบวงโคนเขาประมาณ 15 เซนติเมตร ลักษณะของกะโหลกเมื่อเปรียบเทียบกับกวางผาที่มีกระโหลกโค้งเว้าแล้ว เลียงผามีกะโหลกแบน ขนตามลำตัวมีสีดำและสีแดงขึ้นอยู่กับสภาพถิ่นที่อยู่อาศัย เลียงผาที่อยู่ใต้คอคอดกระจะมีขนขาสีดำ ในขณะที่เลียงผาที่อยู่เหนือคอคอดกระมีขนขาสีแดง เลียงผามีขนที่ปากและใต้คาง สีขาว มีขนแผงคอที่ยาวและแข็งพาดผ่านจากหัวไปถึงโคนหางแต่จะเห็นได้ชัดเจนตั้งแต่หัวถึงกลางหลัง มีต่อมกลิ่นใต้ดวงตา ใช้ถูตามก้อนหินหรือโคนต้นไม้เพื่อการหมายอาณาเขตครอบครอง

การแพร่กระจาย
ในประเทศไทยประชากรกระจายอยู่เป็นหย่อมๆ ตามป่าตั้งแต่เหนือจรดใต้และตะวันออกจรดตะวันตก โดยเฉพาะตามเทือกเขาตะนาวศรี เทือกเขาถนนธงชัยและเทือกเขาเพชรบูรณ์ ในประเทศไทยมีสองสายพันธุ์ย่อย คือ  C. s. maritimusพบเหนือคอคอดกระขึ้นไป และ C. s. sumatraensis พบตั้งแต่ใต้คอคอดกระลงไปจนถึงประเทศอินโดนีเซีย

ชีววิทยา
เลียงผาหนักประมาณ 85-140 กิโลกรัม สูงประมาณ 85-94 เซนติเมตร ความยาวจากปลายจมูกจรดโคนหาง 140-155 เซนติเมตร หางยาว 11.5-16 เซนติเมตร หูยาว 17.5-20.5 เซนติเมตร ในกรงเลี้ยงมีอายุอยู่ได้ถึง 21 ปี เลียงผาตัวเมียสามารถเริ่มสืบพันธุ์เมื่ออายุตั้งแต่ 3 ปี ระยะตั้งท้อง 200-230 วัน ตกลูกครั้งละ 1 ตัว หนักประมาณ 3.6 กิโลกรัม ลูกหย่านมเมื่ออายุ 5-6 เดือน ลุกอาศัยอยู่กับแม่จนกระทั่งอายุ 1 ปี เลียงผาเป็นสัตว์ที่มีประสาทตาและการฟังเสียงที่ดีมาก

นิเวศวิทยา
เลียงผาเป็นสัตว์เคี้ยวเอื้อง ตามปกติอาศัยหากินตัวเดียวตามลำพัง เว้นแต่ในช่วงฤดูผสมพันธุ์ และช่วงเลี้ยงลูกอ่อนอาจพบอาศัยอยู่ร่วมกันเป็นฝูง เลียงผาออกหากินตอนเย็นและเช้ามืด ชอบอาศัยตามหนาผาสูงชัน อาจถูกล่าโดยเสือดาว และหมี

สถานภาพ
ปัจจุบันมีประชากรในธรรม๙ติประมาณ 1,000-1,500 ตัว

ปัจจัยคุกคาม
ชาวบ้านมีความเชื่อว่าน้ำลายของเลียงผาสามารถช่วยในการรักษาบาดแผลได้รวมถึงสามารถใช้ในการสมานกระดูกที่หักได้ ดังนั้นจึงมีการล่าน้ำมันของเลียงผา ซึ่งในอดีตมีการล่าเลียงผาเป็นจำนวนมาก นอกจากการล่าแล้วการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัยและการบุกรุกป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่การเกษตร ทำให้หลายพื้นที่ในปัจจุบันเลียงผาถูกไล่ต้อนให้อยู่ตามภูเขาสูงชันโดยเฉพาะภูเขาหินปูน นอกจากนี้การผลิตปูนซีเมนต์และเพื่อการผลิตหินคลุก เป็นการทำลายถิ่นที่อยู่ที่ปลอดภัยของเลียงผาโดยตรงและถาวร
Cr.หนังสือสัตว์ป่าสงวนในประเทศไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น